Hot Topic!
'มานะ' วัดดีกรีคุณธรรม คสช. สุวรรณภูมิเฟส 2 ต้องมีธรรมาภิบาล
โดย ACT โพสเมื่อ Nov 19,2018
- - ขอบคุณข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ - -
สัมภาษณ์พิเศษ
โครงการประมูลพื้นที่เชิงพาณิชย์ หรือร้านค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) สนามบินสุวรรณภูมิที่กำลังจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปี 2563 ถูกขย่มจากนักวิชาการ นักวิจัย-พัฒนาและองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย)
"ประชาชาติธุรกิจ" สนทนากับ "มานะ นิมิตรมงคล" เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพื่อวัดระดับธรรมาภิบาลของรัฐบาล-คสช. 4 ปีที่ผ่านมา
Q : ทำไมการประมูลดิวตี้ฟรีครั้งนี้จำเป็นต้องเข้าข้อตกลงคุณธรรม
จำเป็นมาก เพราะการประมูลรอบแรกและต่อมามีการต่อสัญญามีเรื่องอื้อฉาว ขึ้นโรงขึ้นศาลหลายคดี ถึงวันนี้ ยังมีคดีคาบเกี่ยวกันอยู่ ว่าถูกต้อง เป็นธรรมต่อรัฐ ให้ผลประโยชน์ตรงไปตรงมา มีการทุจริตหรือไม่
การประมูลดิวตี้ฟรีรอบนี้ ไม่ใช่เฉพาะสนามบินสุวรรณภูมิแห่งเดียว แต่เป็นการประมูลดิวตี้ฟรีครอบคลุมสนามบินใหญ่ 4 แห่ง ของประเทศ ได้แก่ หาดใหญ่ ภูเก็ต และเชียงใหม่
ประเทศไทยได้ประโยชน์จากดิวตี้ฟรีน้อยมาก เมื่อเทียบกับเกาหลีใต้ซึ่งมีรายได้จากดิวตี้ฟรี 3 แสนล้านบาท แต่ไทยมีรายได้จากดิวตี้ฟรี 6-7 หมื่นล้านบาทเท่านั้น
ในหลายประเทศให้สัมปทานดิวตี้ฟรีหลากหลายรูปแบบ ทำให้ราคาที่จะได้เป็นผลประโยชน์ของรัฐแตกต่างกัน
Q : รูปแบบในการประมูลดิวตี้ฟรีรอบนี้ ควรจะเป็นอย่างไร
จะยังไงก็ได้แต่ต้องมาคุยให้ชัดเจน เปิดเผยโดยมีความรู้ ต้องนำความเห็นจากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญมาพิจารณา การเปลี่ยนแปลงกฎ กติกา ผู้เล่นที่ ร่วมประมูลจะมีโอกาสมากขึ้น ฉะนั้นจะต้องเขียนกติกาให้เกิดการแข่งขันให้ มากที่สุดเพื่อประโยชน์ส่วนรวม
Q : การประมูลรอบนี้จะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการผูกขาดเพียงรายเดิม
รายใดก็ได้ จะเจ้าเดียว หรือหลายเจ้า แบ่งตามพื้นที่ แบ่งตามประเภทสินค้า แต่ต้องโปร่งใส อีกปัจจัย นอกจากการเอาข้อตกลงคุณธรรมมาใช้ เพราะเดิมประกาศกันว่า จะประมูลกันภายในปีนี้ แต่ตอนนี้จะรอให้ร่าง พ.ร.บ.ร่วมทุน ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเสร็จก่อน
การเพิ่มหมวด ว่าด้วยการแก้ไขสัญญา สำคัญมาก แปลว่าวันนี้ประมูลได้แล้ว วันข้างหน้าสามารถแก้ไขสัญญาได้ ถามว่า การแก้ไขสัญญา ใครมีอำนาจอนุมัติ ภายใต้เงื่อนไขอะไร ใครเป็นผู้ตรวจสอบ
Q : ถ้ามองในแง่ร้ายรัฐจะเสียประโยชน์จากกฎหมายร่วมทุนฉบับนี้อย่างไร
ปัจจุบันนี้และที่ผ่านมาบ้านเราเต็มไปด้วยระบบอุปถัมภ์และพวกพ้อง เกิดการคอร์รัปชั่น ตัดราคากันเพราะรู้ว่าตัวเองมีเส้นสายและแก้สัญญาภายหลังได้ จึงเกิดการค้าที่ไม่เป็นธรรม ขาดความน่าเชื่อถือ
นอกจากนี้เรายังยื่นหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ให้มีการศึกษาแผนแม่บทโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร 2 สนามบิน สุวรรณภูมิ ใหม่แบบเปิดกว้าง มีส่วนร่วม จากสภาวิชาชีพ ภาคประชาชน เอาประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นที่ตั้ง
Q : การปราบทุจริต 4 ปีที่ผ่านมารัฐบาล คสช.เอาจริงเอาจังแค่ไหน
2 ปีแรกน่าพึงพอใจมาก เห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่ปัญหาที่ตามมาคือไม่ถูกนำไปปฏิบัติ เช่น พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก การลด-โละกฎหมายที่ไม่จำเป็น พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างไม่ถูกนำไปปฏิบัติ แต่ในช่วง 2 ปีหลัง รัฐบาลให้ความสำคัญแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นน้อยลง เพราะมีเรื่องอื่นทำมากขึ้น เช่น ความมั่นคง เศรษฐกิจ ทำให้โครงการอื่นมีปัญหาไปด้วย โครงการประชานิยม โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจเต็มไปด้วยข้อครหาเกี่ยวกับการทุจริต งานไม่เดิน เงินไปไม่ถึงรากหญ้า
Q : เป็นช่วงเดียวกับคนในรัฐบาลมีข้อครหาการทุจริต
2 อย่างพร้อมกัน หนึ่ง การมีปัญหาของคนในรัฐบาล โดยเฉพาะคนที่ใกล้ศูนย์อำนาจ สอง กลไกการตรวจสอบ องค์กรอิสระ ระบบรัฐสภาทำงานไม่ได้เต็มที่ การตรวจสอบของภาคประชาชนหรือสื่อมวลชนทำไม่ได้
Q : รัฐบาลไม่ถูกตรวจสอบอย่าง เข้มข้นเหมือนกับรัฐบาลที่ผ่านมา
ถ้าเกี่ยวกับคนในรัฐบาลโดยตรง ผู้มีอำนาจในรัฐบาลชุดนี้จะใช้ท่าทีที่แข็งกร้าว พูดน้อย ให้ข้อมูลน้อย หน่วยงาน ตรวจสอบเชื่องช้า สื่อมวลชนเข้าไม่ถึงข้อมูล การจัดซื้อจัดจ้าง การตรวจสอบอำนาจรัฐทำได้ไม่เต็มที่ คนกลัว คนไม่รู้ คนรู้ก็พูดไม่ได้
Q : สวนทางกับไทยแลนด์ 4.0
ยังไม่มีการลงทุน ไม่มีการพัฒนา ไม่ได้ออกกฎหมาย-กฎ ระเบียบมา รองรับ ท่าทีของผู้นำรัฐบาลคนปัจจุบันและมาตรการการเปิดเผยข้อมูลสวนทางกัน การแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร จนถึงวันนี้ 2 ปีแล้วยังไม่มีความคืบหน้า
Q : ส่งเสียงท้วงติงไปแต่เหมือนรัฐบาลจะไม่ได้ยิน-แกล้งไม่ได้ยิน
รัฐบาลได้ยิน แต่การตอบสนองไม่มีความคืบหน้า คดีใหญ่ ๆ อยู่ในความสนใจของประชาชนได้รับคำตอบ ผ่านสื่อ เช่น คดีนาฬิกา คดีสินบน โรลส์-รอยซ์ รัฐบาลปฏิบัติกับเราเหมือนประชาชนทั่วไป ไม่ได้เปิดช่องทาง พิเศษ
Q : ตั้ง คตช.ช่วยเรื่องการทุจริตได้จริงหรือไม่
ตอนนี้ไม่มีการประชุมแล้ว เท่ากับว่ายังไม่มีการดำเนินงานอะไร
Q : กรรมการ คตช.ออกมาตอกย้ำ ข้อครหาเรื่องการทุจริตของคนในรัฐบาล
เป็นความคิดเห็นของคนที่เป็นกรรมการ นอกการปฏิบัติหน้าที่ จะถือว่าเป็นความขัดแย้งภายในของคนใน คตช.คงไม่ใช่
Q : เมื่อไม่มีการประชุมจึงกลายเป็นสุญญากาศ
1 ปีที่ไม่มีการประชุมเท่ากับการทำงานต้องขาดช่วง เช่น การทำราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้าง แนวทางในการพัฒนาหน่วยตรวจสอบภายใน ของหน่วยงานราชการ การประเมินความเสี่ยงการทุจริตในหน่วยงาน การแก้ไขปัญหาสินบนข้ามชาติ
Q : แต่รัฐบาล คสช.เสถียรภาพมั่นคงมาก แม้จะมีข้อครหาเรื่องการทุจริต
เป็นเพราะอำนาจพิเศษ
Q : ถ้าไม่มีอำนาจพิเศษเหมือนรัฐบาลเลือกตั้งคงสั่นคลอน
รัฐบาลกำลังจะเดินหน้าทาง การเมือง รัฐบาลกำลังจะเลือกว่า จะอาศัยการสนับสนุนของประชาชน หรืออาศัยการสนับสนุนจากฐานทาง การเมือง ถ้ารัฐบาลทำทุกอย่างโปร่งใส รักษาผลประโยชน์ของชาติเต็มเม็ด เต็มหน่วย ประชาชนจะให้การสนับสนุน 100%
Q : ตอนนี้รัฐบาล คสช.เข้ามาเป็น ผู้เล่นแต่กลับมีอำนาจเต็ม
ถ้าผู้มีอำนาจใช้อำนาจของตัวเองโดยไม่เป็นธรรม หรือไม่สุจริตเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ทางการเมืองของ ตัวเอง คือการคอร์รัปชั่นทางการเมือง คนถืออำนาจรัฐอยู่ในมือไปบิดเบือนกลไกอะไรบางอย่าง ไม่เหมือนกับ การโกงเงิน แต่เป็นการโกงทางการเมือง จับผิดยาก แต่ถ้าประชาชนรู้และ เข้าใจ ไม่ยอม ในวันข้างหน้าจะทำได้ยากขึ้น
Q : การใช้อำนาจไปบิดเบือนกลไกบางอย่างที่เป็นรูปธรรม
กลไกรัฐ กลไกกฎหมาย กลไกทางสังคม เช่น พอใกล้เลือกตั้ง หว่านเงิน เดินสาย โยกย้ายข้าราชการ ด้วยเจตนาเพื่อประโยชน์ของพรรคตัวเอง เป็นการคอร์รัปชั่นทางการเมืองทั้งนั้น
#ร่วมเป็นคนไทยตื่นรู้สู้โกง
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน